กระบวนการจัดหาและเจรจาข้อมติสมัชชาสหประชาชาติ

กระบวนการจัดหาและเจรจาข้อมติสมัชชาสหประชาชาติ

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ม.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 7,382 view

การยกร่างข้อมติ 

          1. ข้อมติที่มีอยู่แล้วเดิม ข้อมติที่ได้รับการรับรองแล้วในสมัยประชุมก่อน ๆ มีทั้งข้อมติที่ออกครั้งเดียว (one-off) ข้อมติรายปี (annual) ข้อมติรายสองปี (biennial) ข้อมติรายสามปี (triennial) และข้อมติรายสี่ปี (quadrennial) ข้อมติที่ออกเป็นประจำ (ไม่ใช่ one-off) ดังกล่าว มักได้รับการเสนอซ้ำโดยรัฐสมาชิก/กลุ่มประเทศเดิมที่แข็งขันเป็นผู้นำหรือให้ความสำคัญกับประเด็นนั้น ๆ เช่นกลุ่ม 77 ซึ่งเป็นกลุ่มเจรจา (negotiating bloc) ที่ใหญ่ที่สุดในสหประชาชาติ ประกอบด้วยประเทศกำลังพัฒนาจากเอเชีย (รวมไทย) ละตินอเมริกา และแอฟริกา รวม 134 ประเทศ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันเพื่อผลักดันวาระที่เกี่ยวกับการพัฒนาเป็นหลัก

           ในแต่ละปี กลุ่ม 77 จะเสนอร่างข้อมติหลายฉบับในคณะกรรมการ 2 คณะกรรมการ 3 คณะกรรมการ 4 และ คณะกรรมการ 5 และจะมีการมอบหมายรัฐสมาชิกในกลุ่มเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน (coordinator) ของกลุ่ม เพื่อทำหน้าที่ยกร่างข้อมติของกลุ่ม สำหรับการยกร่างข้อมติในกรณีของข้อมติที่มีอยู่แล้วเดิม โดยทั่วไปหน้าที่หลักของผู้ยกร่างข้อมติก็คือการนำข้อมติที่ได้รับการรับรองล่าสุดมาปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน (update) และ/หรือเพิ่มเติมถ้อยคำที่ตนหรือกลุ่มผลักดันเพิ่มเติม

           2. ข้อมติใหม่ ในกรณีที่รัฐสมาชิกได้รับนโยบายให้เสนอร่างข้อมติใหม่ สามารถทำในนามประเทศหรือผลักดันให้มีการเสนอในนามกลุ่มประเทศได้ เพื่อให้มีน้ำหนัก/ได้รับเสียงสนับสนุนมากขึ้น ในกรณีที่รัฐสมาชิกที่เป็นผู้ริเริ่มจะเป็นผู้ยกร่างข้อมติใหม่ทั้งหมด โดยปกติ ผู้ยกร่างจะประสาน (outreach) อย่างไม่เป็นทางการไปยังประเทศ กลุ่มประเทศ และประเทศคู่เจรจาที่สำคัญที่น่าจะมีผลประโยชน์ร่วมกัน/คล้ายคลึงกัน หรืออาจมีท่าทีที่ไม่สอดคล้องกันเกี่ยวกับร่างข้อมติฉบับที่จะเสนอแต่เนิ่น ๆ ซึ่งเป็นแนวทางที่รัฐสมาชิกรัฐสมาชิก หรือกลุ่มต่าง ๆ ที่มักมีบทบาทในการเจรจา (vocal) อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป กลุ่ม CANZ หรือกลุ่ม 77 มักจะปฏิบัติเช่นนี้ เพื่อประเมินสถานการณ์ วางแผนการเจรจาในลักษณะที่จะรักษาผลประโยชน์และคงประเด็นสำคัญของประเทศของตน/กลุ่มไว้ให้ได้มากที่สุด และเตรียมหาถ้อยคำในร่างข้อมติที่ทุกฝ่ายน่าจะสามารถยอมรับร่วมกันได้ไว้ล่วงหน้า

การเจรจาร่างข้อมติ 

          1. เมื่อยกร่างข้อมติเสร็จเรียบร้อยแล้ว ร่างเอกสารฉบับแรกเรียกว่า “zero draft” ซึ่งรัฐสมาชิกผู้เสนอร่างข้อมติจะต้องเวียน zero draft ให้ทุกรัฐสมาชิกพิจารณาและเปิดให้มีการเจรจาระหว่างรัฐสมาชิกอย่างเปิดเผยและกว้างขวาง โดยผู้เสนอร่างข้อมติทำหน้าที่เป็นประธาน (Chair) ของการประชุม “informal consultations”

          2. ในกรณีที่เป็นการเสนอร่างข้อมติโดยกลุ่ม แนวปฏิบัติจะแตกต่างกันไป อาทิ สำหรับกลุ่ม Foreign Policy and Global Health (FPGH) ซึ่งเป็นกลุ่มเล็ก มีสมาชิกเพียง 7 ประเทศ ประธานกลุ่มจะทำหน้าที่เป็นประธานการเจรจาทั้งภายในกลุ่มและนอกกลุ่ม แต่สำหรับกลุ่ม 77 ในคณะกรรมการ 2 และคณะกรรมการ 5 ซึ่งเป็นกลุ่มขนาดใหญ่และเสนอร่างข้อมติจำนวนมากเป็นประจำทุกปี ประธานกลุ่ม 77 จะทำหน้าที่เป็นประธานการเจรจาเฉพาะภายในกลุ่มเท่านั้น โดยประธานของคณะกรรมการจะแต่งตั้ง Facilitator สำหรับร่างข้อมติแต่ละฉบับเพื่อเป็นประธานในการเจรจาระหว่างกลุ่ม 77 กับประเทศคู่เจรจาอื่น ๆ ทั้งหมด โดยกลุ่ม 77 จะแต่งตั้ง Coordinator ภายในกลุ่มเพื่อไปเจรจาในนามกลุ่มกับประเทศคู่เจรจา

          3. ในการเจรจา รัฐสมาชิกทุกประเทศต่างมีสิทธิที่จะเสนอตัด/ปรับ/เพิ่มถ้อยคำในร่างข้อมติ โดยรัฐสมาชิกที่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวสามารถแสดงการสนับสนุน ส่วนรัฐสมาชิกที่ไม่เห็นด้วยก็สามารถคัดค้านและเสนอถ้อยคำอื่นได้ การเจรจาในชั้นนี้เรียกว่า “informal consultations” อย่างไรก็ดี ในประเด็นที่ละเอียดอ่อนมาก มักมีการเจรจากลุ่มย่อยเฉพาะประเทศที่มีปัญหาจริง ๆ เพื่อประนีประนอม ต่อรอง และเสนอข้อแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ในการเจรจาแต่ละครั้งจะมีปรับ text ไปเรื่อย ๆ จนกว่าทุกฝ่ายจะพอใจและไม่มีข้อคัดค้านอีกต่อไป

          4. ในกรณีที่เป็นร่างข้อมติที่เสนอโดยกลุ่มประเทศก่อนที่จะเปิดการเจรจากับรัฐสมาชิกทุกประเทศนั้น รัฐสมาชิกผู้ยกร่างจะต้องเสนอร่างข้อมติต่อที่ประชุมกลุ่ม และเปิดการเจรจาภายในกลุ่มก่อน และจะมีการปรับแก้จนกว่ารัฐสมาชิกทุกประเทศในกลุ่มนั้นจะยอมรับและเห็นชอบกับร่างข้อมติ จึงจะเปิดการเจรจากับรัฐสมาชิกอื่น ๆ นอกกลุ่มได้ และเมื่อเปิดการเจรจากับรัฐสมาชิกนอกกลุ่มแล้วหากมีการเสนอตัด/ปรับ/เพิ่มถ้อยคำในร่างข้อมติ ผู้ยกร่างจะต้องกลับมาหารือภายในกลุ่มเพื่อขอ mandate จากกลุ่มทุกครั้ง จะตัดสินใจเอง โดยไม่หารือและได้รับความเห็นชอบจากกลุ่มก่อนไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นเพียงตัวแทนของกลุ่มเท่านั้น ในทางกลับกัน ตามธรรมเนียมปฏิบัติ รัฐสมาชิกที่อยู่ในกลุ่มนั้นควรจะเสนอข้อเสนอของตนในระหว่างการเจรจาภายในกลุ่มของตนเท่านั้น เมื่ออยู่ในการเจรจากับประเทศนอกกลุ่ม จะต้องมอบอำนาจให้ประธานกลุ่มหรือผู้แทนกลุ่มเป็นผู้ดำเนินการเจรจาในนามกลุ่มอย่างเต็มที่ เพื่อแสดงความเป็นปึกแผ่นและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

          5. โดยทั่วไป การเจรจาในชั้นนี้ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ถึงหนึ่งเดือน ขึ้นอยู่กับความยาวของร่างข้อมติ และขึ้นอยู่กับเนื้อหาของร่างข้อมติซึ่งมีระดับของความละเอียดอ่อนที่แตกต่างกัน

กระบวนการ silence procedure

          เมื่อทุกฝ่ายสามารถยอมรับถ้อยคำใน text ได้แล้ว ประธานจะประกาศปิดการเจรจา และเวียน final text ให้รัฐสมาชิกทั้งหมดเพื่อเข้าสู่ silence procedure โดยประธานจะแจ้งเวียนว่า หากพ้นเวลาที่กำหนด (ส่วนใหญ่จะประมาณ 24 ชม.) และไม่มีผู้ใดคัดค้าน จะถือว่า รัฐสมาชิกทั้งหมดได้ให้ความเห็นชอบต่อ text และปิดขั้นตอนเจรจาแล้ว ดังนั้น นับจากนี้การเสนอขอแก้ไขใด ๆ จะต้องทำในชั้นกระบวนการทางการ (formal procedure) ของ UNGA

          ในกรณีที่มีประเทศที่คัดค้าน text ก่อนสิ้นสุดเวลาที่ประธานกำหนด เรียกว่า การ “break silence procedure” ซึ่งรัฐสมาชิกส่วนใหญ่จะหลีกเลี่ยง เว้นแต่จะเป็นประเด็นที่คอขาดบาดตายสำหรับตนจริง ๆ (แต่ก็มีบางประเทศใช้กลยุทธปล่อยข่าวว่าจะ break silence procedure เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองสำหรับการพิจารณาขั้นต่อไป) ในกรณีที่มีการ break silence procedure ประธานการเจรจาจะต้องเรียกประชุมอีกครั้ง เพื่อหาข้อยุติในประเด็นที่ถูก break silence procedure เท่านั้น หากยังคงหาข้อยุติไม่ได้หรือประเมินแล้วว่า ถึงแม้เรียกประชุมก็จะไม่สามารถหาข้อยุติได้ ประธานอาจพิจารณาจัดทำ “Chair’s text” โดยปรับถ้อยคำที่เห็นว่าน่าจะเป็นที่ยอมรับร่วมกันได้ และเริ่มกระบวนการ silence procedure ใหม่อีกครั้งเพื่อให้รัฐสมาชิกอื่น ๆ รับรอง text ก่อนเสนอต่อ UNGA

          ในกรณีที่เป็นร่างข้อมติที่เสนอโดยกลุ่ม 77 จะมีขั้นตอนเพิ่มขึ้น กล่าวคือ จะมีกระบวนการ silence procedure 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งแรกเฉพาะสำหรับรัฐสมาชิกกลุ่ม 77 เมื่อการเจรจา text ภายในกลุ่มเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อให้สมาชิกกลุ่มรับรอง zero draft ก่อน หลังจากนั้น จะนำ zero draft ไปเสนอและเปิดการเจรจากับรัฐสมาชิกอื่น ๆ ทั้งหมด และเมื่อปิดการเจรจากับรัฐสมาชิกทั้งหมดแล้ว ก็จะมีกระบวนการ silence procedure สำหรับรัฐสมาชิกสหประชาชาติทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง

การเสนอร่างข้อมติต่อสมัชชาสหประชาชาติเพื่อรับรอง

เมื่อร่างข้อมติผ่าน silence procedure แล้ว แบ่งออกได้เป็น 2 กรณี ดังนี้

          1. คณะกรรมการหลัก (คณะกรรมการ 1-6) ผู้เสนอร่างข้อมติจะต้องส่ง text ให้ Bureau ของคณะกรรมการนั้น ๆ ภายในเวลาที่ Bureau กำหนด (แยกตามระเบียบวาระ) ฝ่ายเลขานุการจะดำเนินการแปลร่างข้อมติเป็นภาษาทางการของสหประชาชาติ อีก 5 ภาษา และปรับแก้ถ้อยคำเท่าที่จำเป็นเฉพาะที่เป็นลักษณะ editorial เท่านั้น โดยความยินยอมของผู้เสนอร่างข้อมติ และออกเป็นเอกสารเรียกว่า “L Document” ซึ่งเป็นชื่อเรียกร่างข้อมติที่จะเข้าสู่การพิจารณาอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการ และของที่ประชุมเต็มคณะตามลำดับ เพื่อรับรองร่างข้อมติต่อไป

          2. ที่ประชุมเต็มคณะ (Plenary) ผู้เสนอร่างข้อมติจะต้องส่ง text ให้ฝ่ายเลขานุการของ UNGA โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านคณะกรรมการหลักใด ๆ ในชั้นนี้ ผู้เสนอร่างข้อมติควรต้องประสานกับฝ่ายเลขานุการฯ แต่เนิ่น ๆ ว่า จะมีการรับรองร่างข้อมติในระเบียบวาระต่าง ๆ โดย UNGA ในวันใดบ้าง และจะต้องยึดถือวันเหล่านั้นเป็นสำคัญ ในกรณีของที่ประชุมเต็มคณะ ผู้เสนอร่างข้อมติจะต้องส่ง text ให้ฝ่ายเลขานุการประมาณ 3 - 5 วันล่วงหน้าก่อนวันที่จะมีการรับรองร่างข้อมติ เพื่อให้ฝ่าย Secretariat จัดทำ L Document เป็นภาษาทางการของสหประชาชาติ ทั้ง 6 ภาษาได้ทันเวลา

การร่วมอุปถัมภ์ร่างข้อมติ (co-sponsor)

          โดยทั่วไป ผู้เสนอร่างข้อมติ (ทั้งในนามประเทศ และในนามกลุ่ม) จะเปิดโอกาสให้รัฐสมาชิกอื่น ๆ ร่วมอุปถัมภ์            (co-sponsor) ร่างข้อมติได้ การร่วมอุปถัมภ์เป็นการแสดงอย่างชัดแจ้งว่าตนสนับสนุนเนื้อหาของร่างข้อมติฉบับนั้น ๆ อย่างเต็มที่ รัฐสมาชิกทุกประเทศสามารถร่วมอุปถัมภ์ร่างข้อมติได้ตั้งแต่เมื่อผู้เสนอร่างข้อมติประกาศเปิดให้มีการร่วมอุปถัมภ์ ไปจนถึงวันที่มีการรับรองร่างข้อมติ UNGA ก่อนที่ PGA จะประกาศรับรองร่างข้อมติและทุบค้อนเชิงสัญลักษณ์ (gavel) หากร่วมอุปถัมภ์ในช่วงแรก ๆ ก็จะมีชื่อประเทศปรากฏอยู่ใน L Document หากร่วมอุปถัมภ์ในช่วงท้าย จะมีชื่อปรากฏอยู่เพียงในบันทึกการประชุม

การเสนอขอแก้ไขร่างข้อมติในวันที่มีการรับรองร่างข้อมติ

          ในชั้นนี้ หลังจากที่ร่างข้อมติผ่าน silence procedure และออกเป็น L Document แล้ว อาจมีรัฐสมาชิกเสนอแก้ไขร่างข้อมติก่อนการรับรองร่างข้อมติได้ในบางกรณีที่จำกัดมาก ดังนี้

          1. ผู้เสนอร่างข้อมติขอแก้ไขเอง ผู้เสนอร่างข้อมติเสนอแก้ไขร่างข้อมติในประเด็นเล็กน้อยที่ไม่ใช่สาระสำคัญ โดยมากเป็น technical/grammatical error ซึ่งสามารถขอมี oral revision ในที่ประชุมเต็มคณะได้

          2. รัฐสมาชิกอื่นที่ไม่ใช่ผู้เสนอร่างข้อมติขอแก้ไขร่างข้อมติ โดยหลัก รัฐสมาชิกอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ผู้เสนอร่างข้อมติจะขอแก้ไขร่างข้อมติในชั้นนี้ได้ จะต้องดำเนินการตามข้อ 78 ของ ROPก่อน กล่าวคือ จะต้องส่งข้อเสนอแก้ไขร่างข้อมติเป็นลายลักษณ์อักษร (amendment) ให้เลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อเวียนให้รัฐสมาชิกทุกประเทศทราบ อย่างน้อยหนึ่งวันล่วงหน้าก่อนวันที่จะมีการรับรองร่างข้อมติ (เรียกกันว่า “กฎ 24 ชั่วโมง” หรือ “24-hour rule”) อย่างไรก็ดี มีข้อยกเว้นว่า PGA อาจตัดสินใจใช้ดุลยพินิจให้ที่ประชุมรับพิจารณาข้อเสนอแก้ไขร่างข้อมติได้ แม้ว่าจะไม่ได้มีการเวียนหนึ่งวันล่วงหน้าก่อนก็ตาม ในกรณีนี้ ประเทศผู้เสนอร่างข้อมติสามารถร้องขอให้ PGA เลื่อนการพิจารณาร่างข้อมติออกไปอีก 24 ชั่วโมง ในระหว่างนั้น ผู้เสนอร่างข้อมติอาจเจรจากับประเทศที่เสนอขอแก้ไขร่างข้อมติเพื่อให้ถอนข้อเสนอออกไป อย่างไรก็ดี ในกรณีที่เจรจาไม่สำเร็จ (ผู้เสนอขอแก้ไขร่างข้อมติยังยืนยันที่จะแก้ไขร่างข้อมติ) โดยทั่วไป ประเทศผู้เสนอร่างข้อมติจะขอต่อประธานหรือประธานอาจตัดสินใจโดยการริเริ่มของตนเอง ให้มีการลงคะแนนเสียงต่อข้อเสนอแก้ไขตามข้อ 90 ของ ROP3 (Voting on amendments) โดยทั่วไปการขอแก้ไขร่างข้อมติในลักษณะนี้มักจะไม่ผ่านและตกไปในที่สุด (ซึ่งผู้เสนอแก้ไขอาจตัดสินใจดำเนินการตามข้อ 2.6.3 และ/หรือ 2.6.4 ต่ออีก) ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศที่เสนอขอแก้ไขเอง ทั้งนี้ เนื่องจากมีเวลาพอสมควรที่จะเสนอแก้ไขได้ตั้งแต่ในชั้นเจรจาก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการทางการ อยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังมักเกิดขึ้นในกรณีของประเทศฝั่งตรงข้ามกับประเทศที่เสนอร่างข้อมติ ที่มักจะพร้อมเปิดตัวอย่างชัดเจนว่าคัดค้านหรือขัดขวางแนวคิดของประเทศที่เสนอร่างข้อมติ โดยหลายครั้งเป็นการดำเนินการเพื่อแสดงออกทางการเมืองเชิงสัญลักษณ์ (ตัวอย่างเช่นอิสราเอลที่มักจะเสนอขอแก้ไขร่างข้อมติใด ๆ ที่อ้างถึง “ประชาชนหรือประเทศภายใต้การยึดครองของต่างชาติ” (“peoples or countries under foreign occupation”) ซึ่งเป็นประเด็นที่กลุ่ม 77 ผลักดันให้มีในทุกข้อมติ)

        3. รัฐสมาชิกอื่นที่ไม่ใช่ผู้เสนอร่างข้อมติขอลงคะแนนเสียงเฉพาะวรรคที่ตนไม่สนับสนุน เป็นไปตามข้อ 89 ของ ROP4 (Division of proposals) เรียกว่า “motion to divide the question” หรือการลงคะแนนเสียงเฉพาะวรรค (paragraph vote) 

        4. รัฐสมาชิกอื่นที่ไม่ใช่ผู้เสนอร่างข้อมติขอลงคะแนนเสียงร่างข้อมติทั้งฉบับ ซึ่งตาม ROP5  รัฐสมาชิกใด ๆ สามารถขอลงคะแนนเสียงได้ ทั้งนี้ การขอลงคะแนนเสียงร่างข้อมติทั้งฉบับหรือเฉพาะวรรคมักจะไม่ผ่านและตกไปในที่สุด ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศที่เสนอขอแก้ไขเองเช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่รัฐสมาชิกที่ขอให้มีการลงคะแนนเสียงทั้งฉบับหรือเฉพาะวรรค มักจะทราบอยู่แล้วว่าจะไม่ผ่าน ซ้ำยังจะเป็นการเน้นย้ำท่าทีที่โดดเดี่ยวและแตกต่างจากเสียงส่วนใหญ่ เพียงแต่ต้องการใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น

การรับรองร่างข้อมติ หลังจากที่ฝ่ายเลขานุการของ Plenary ออก L Document

          (หรือหลังจากที่ร่างข้อมติได้รับการรับรองโดยคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่ร่างข้อมติเสนอผ่านคณะกรรมการ) ร่างข้อมติจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมเต็มคณะ (Plenary) เพื่อรับรอง การรับรองมีได้ 2 แบบ ดังนี้

1. การรับรองโดยฉันทามติ (by consensus) กล่าวคือ การนิ่ง/ไม่คัดค้านเท่ากับการยอมรับ 

          2. การรับรองโดยการลงคะแนนเสียง (by vote) รัฐสมาชิกประเทศใดก็ได้สามารถร้องขอให้มีการลงคะแนนเสียงต่อร่างข้อมติ รัฐสมาชิกที่เข้าร่วมการประชุมจะต้องลงคะแนนเสียงสนับสนุน (yes) คัดค้าน (no) หรืองดออกเสียง (abstain) ซึ่งฝ่ายเลขานุการจะบันทึกการลงคะแนนเสียงเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

 


2Rule 78 [120] “Proposals and amendments shall normally be submitted in writing to the Secretary-General, who shall circulate copies to the delegations. As a general rule, no proposal shall be discussed or put to the vote at any meeting of the General Assembly unless copies of it have been circulated to all delegations not later than the day preceding the meeting. The President may, however, permit the discussion and consideration of amendments, or of motions as to procedure, even though such amendments and motions have not been circulated or have only been circulated the same day.”

3Rule 90 [130] “When an amendment is moved to a proposal, the amendment shall be voted on first. … If one or more amendments are adopted, the amended proposal shall then be voted upon. A motion is considered an amendment to a proposal if it merely adds to, deletes from or revises part of the proposal.”

4Rule 89 [129] “A representative may move that parts of a proposal or of an amendment should be voted on separately. If objection is made to the request for division, the motion for division shall be voted upon. … If the motion for division is carried, those parts of the proposal or of the amendment which are approved shall then be put to the vote as a whole. …”

5Rule 82 [124] “Each member of the General Assembly shall have one vote.”

  Rule 83 “Decisions of the General Assembly on important questions shall be made by a two-thirds majority of the members present and voting. ...”

  Rule 84 “Decisions of the General Assembly on amendments to proposals relating to important questions, and on parts of such proposals put to the vote separately, shall be made by a two-thirds majority of the members present and voting.”

  Rule 85 [125] “Decisions of the General Assembly on questions other than those provided for in rule 83, including the determination of additional categories of questions to be decided by a two-thirds majority, shall be made by a majority of the members present and voting.”

  Rule 86 [126] “For the purposes of these rules, the phrase “members present and voting” means members casting an affirmative or negative vote. Members which abstain from voting are considered as not voting.”
  Rule 87 [127] “…Any representative may request a recorded vote. …”

  ทั้งนี้ อ่านประกอบ GA Handbook: A practical guide to the United Nations General Assembly หน้า 54 - 55 (https://www.eda.admin.ch/dam/mission-new-york/en/documents/UN_GA__Final.pdf) และ Repertory of Practice of United Nations Organs