คณะกรรมการ 4 (การเมืองพิเศษ และการปลดปล่อยอาณานิคม)

คณะกรรมการ 4 (การเมืองพิเศษ และการปลดปล่อยอาณานิคม)

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ม.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 3,502 view

1. ข้อมูลเกี่ยวกับคณะกรรมการ 4

1.1 หน้าที่/ความรับผิดชอบ

           คณะกรรมการ 4 รับผิดชอบประเด็นที่เกี่ยวกับการปลดปล่อยอาณานิคม การรักษาสันติภาพ การใช้อวกาศส่วนนอกในทางสันติ สถานการณ์ในตะวันออกกลาง ปฏิบัติการการเมืองพิเศษ และประเด็นด้านสารสนเทศ โดยระเบียบวาระที่เกี่ยวข้องกับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและปฏิบัติการทุ่นระเบิด (Assistance in Mine Action) และ University for Peace มีกำหนดพิจารณาทุกสองปี และสามปี ตามลำดับ

1.2 ประเด็นสำคัญในกรอบคณะกรรมการ

  • การปฏิรูปปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ
  • สถานการณ์ในตะวันออกกลาง
  • การปลดปล่อยอาณานิคม
  • การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและปฏิบัติการทุ่นระเบิด

1.3 กรอบระยะเวลาการทำงาน

          คณะกรรมการฯ ใช้เวลาในการทำงานประมาณ 2 เดือน โดยจะเริ่มพิจารณาระเบียบวาระเกี่ยวกับการปลดปล่อยอาณานิคม (Decolonization Cluster) ก่อน

  • UNGA72 - คณะกรรมการฯ เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. - 10 พ.ย. 2560
  • UNGA73 - คณะกรรมการฯ เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่   4 ต.ค. - 16 พ.ย. 2561

1.4 ลักษณะ/รูปแบบการทำงาน

           ในภาพรวม คณะกรรมการ 4 ดำเนินการประชุมเต็มคณะ (plenary) ตามระเบียบวาระที่ปรากฏใน Proposed Programme of Work โดยทั่วไปแล้ว การดำเนินการประชุมในแต่ละระเบียบวาระจะประกอบไปด้วย (1) การรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการที่ขึ้นตรงต่อคณะกรรมการ 4 ของ UNGA ในระเบียบวาระนั้น ๆ (2) การกล่าวถ้อยแถลงของกลุ่มประเทศ และประเทศต่าง ๆ (3) การรับรองร่างข้อมติ และข้อตัดสินใจ โดยในการประชุมเต็มคณะของคณะกรรมการ 4 ครั้งสุดท้าย ที่ประชุมจะรับรองร่างข้อมติที่ยังค้างอยู่ เพื่อส่งต่อให้ที่ประชุมเต็มคณะของ UNGA พิจารณาต่อไป

           คณะกรรมการต่าง ๆ ที่ขึ้นตรงต่อคณะกรรมการ 4 ได้แก่

           (1) Special Committee on Peacekeeping Operations (C-34) - ระเบียบวาระการปฏิบัติการรักษาสันติภาพ 

           (2) Special Committee on the Situation with regard to the Implementation of the Declaration on the Granting of Independence to Colonial Countries and Peoples หรือ Special Committee on Decolonization (C-24) - ระเบียบวาระที่เกี่ยวกับการปลดปล่อยอาณานิคม 

           (3) Committee on Information (CoI) - ระเบียบวาระ Questions Relating to Information 

           (4) Committee on the Peaceful Uses of Outer Space (COPUOS) - ระเบียบวาระการใช้อวกาศส่วนนอกในทางสันติ

           (5) Special Committee to Investigate Israeli Practices Affecting the Human Rights of the Palestinian People and other Arabs of the Occupied Territories - ระเบียบวาระที่เกี่ยวกับสถานการณ์ในตะวันออกกลาง

           (6) United Nations Relief and Works Agency for Palestine Refugees in the Near East (UNRWA) - ระเบียบวาระที่เกี่ยวกับสถานการณ์ในตะวันออกกลาง

           (7) United Nations Scientific Committee on the Effects of Atomic Radiation (UNSCEAR) - ระเบียบวาระที่เกี่ยวกับผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสี

1.5 กระบวนการขั้นตอนการนำเสนอและพิจารณาร่างข้อมติ

           (1) ประเทศหรือกลุ่มประเทศเสนอร่างข้อมติ โดยอาจปรากฏในรูปแบบเอกสารแนบท้ายผลการประชุมของคณะกรรมการที่ขึ้นตรงต่อคณะกรรมการ 4 (ตามข้อ 1.4.2) / บนเว็บไซต์คณะกรรมการ 4 / เวียนทางอีเมล / หรือ UN Delegate Portal ก็ได้

           (2) ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการ 4 บรรจุร่างข้อมติในระเบียบวาระพิจารณา

           (3) หากเป็นข้อมติที่มีนัยสำคัญ ประเทศหรือกลุ่มประเทศที่เสนอร่างข้อมติจะจัดประชุม Informal เพื่อเจรจาถ้อยคำให้เป็นที่ยอมรับ (อาจหารือมากกว่า 1 ครั้ง)

           (4) ร่างข้อมติเข้าสู่การประชุมเต็มคณะ (plenary) ของคณะกรรมการ 4 เพื่อรับรองโดยฉันทามติ หรือการลงคะแนนเสียง (แล้วแต่กรณี)

           (5) ร่างข้อมติเข้าสู่การประชุมเต็มคณะของ UNGA เพื่อรับรอง

 

2. ผู้เล่นสำคัญ

2.1 ประเทศและกลุ่มประเทศที่มีบทบาทสำคัญ

  • กลุ่มประเทศ – (1) กลุ่ม NAM มีบทบาทสำคัญในประเด็นด้านความมั่นคง อาทิ ปฏิบัติการรักษาสันติภาพ การเมืองพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปฏิรูประบบงานของสหประชาชาติ (2) กลุ่ม G77 ในประเด็นด้านภาษาและสารสนเทศ (Questions Relating to Information) (3) กลุ่มประเทศแคริบเบียน – ในประเด็นปลดปล่อยอาณานิคม เนื่องจากมี NSGTs (Non-Self-Governing Territories) จำนวนมากอยู่ในภูมิภาคแคริบเบียน และ (4) กลุ่มประเทศอาหรับ - ต่อต้านอิสราเอลในประเด็นตะวันออกกลาง
  • ประเทศ – (1) สหรัฐฯ – ในประเด็นที่อาจมีนัยเพิ่มค่าใช้จ่ายของ UN (2) โคลัมเบีย และโปแลนด์ – ในประเด็นปฏิบัติการทุ่นระเบิด โดยหยิบยกประเด็นการใช้ IEDs เป็นทุ่นระเบิดสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก          

2.2 ประเทศหรือกลุ่มที่เป็นพันธมิตรกับไทย

                     กลุ่ม NAM / G77 / ASEAN มักแสดงท่าทีไปในทิศทางเดียวกับท่าทีของไทย

2.3 ประเทศหรือกลุ่มที่มีท่าทีขัดแย้งกับผลประโยชน์ของไทย

 

3. ผลประโยชน์ของไทย

          3.1 ไทยให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเสาสันติภาพและความมั่นคงของ UN ซึ่งจะมีผลต่อการดำเนินการด้านการปฏิบัติการรักษาสันติภาพซึ่งไทยแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง และล่าสุด ไทยจะส่งกองร้อยทหารช่างเข้าร่วมในปฏิบัติการรักษาสันติภาพในเซาท์ซูดานด้วย

          3.2 ไทยสนับสนุนปฏิบัติการทุ่นระเบิด อย่างไรก็ดี ในการประชุมเกี่ยวกับเรื่องนี้ใน UNGA72 หลายประเทศหยิบยกผลกระทบจากระเบิดแสวงเครื่อง (IEDs) ที่ถูกนำมาใช้เป็นทุ่นระเบิด ส่งผลให้มีจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก และพยายามบรรจุประเด็น IEDs ในร่างข้อมติเรื่องปฏิบัติการทุ่นระเบิด ซึ่งหลายประเทศ รวมทั้งไทย เห็นว่าข้อมติของคณะกรรมการ 4 ควรจำกัดเฉพาะการดำเนินการด้านมนุษยธรรมเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการขยายขอบเขตข้อมติและความซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการ 1

          3.3 โดยที่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกที่ลงนามและยื่นสัตยาบันสารของสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ไทยจึงน่าจะให้ความสำคัญกับพัฒนาการและบทบาทในเรื่อง Effects of Atomic Radiation  

 

4. บทบาทสำคัญของไทย

          4.1 ผู้แทนไทยกล่าวถ้อยแถลงใน 4 ระเบียบวาระ ได้แก่ (1) Assistance in Mine Action (2) International Cooperation in the Peaceful Uses of Outer Space (3) United Nations Relief and Works Agency for Palestine Refugees in the Near East และ (4) Comprehensive review of the whole question of peacekeeping operations in all their respects

          4.2 ไทยร่วมอุปถัมภ์ร่างข้อมติ 4 ฉบับ (ระเบียบวาระที่ 50 51 56 และ 61 ของ UNGA72)

          4.3 ไทยร่วมฉันทามติร่างข้อมติและข้อตัดสินใจ 25 ฉบับ ลงคะแนนเสียงสนับสนุน 15 ฉบับ งดออกเสียง 1 ฉบับ

 

5. ร่างข้อมติสำคัญ (แยกตาม cluster หรือหมวดหมู่)

           5.1 ข้อมติเรื่อง Assistance in Mine Action - ใน zero draft เพิ่มถ้อยคำเกี่ยวกับ IEDs เนื่องจากมีการพบการใช้ IEDs เป็นทุ่นระเบิด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี หลายประเทศเห็นว่าการเพิ่มถ้อยคำดังกล่าวอาจมีนัยขยายขอบเขตร่างข้อมติ และอาจซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการ 1 จึงจำกัดความเกี่ยวกับ IEDs ให้คงเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการด้านมนุษยธรรมเท่านั้น

           5.2 ข้อมติเรื่อง Question of Guam – เพิ่มถ้อยคำเกี่ยวกับการคงกองกำลังทหารในพื้นที่ สถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาค (ซึ่งมีนัยถึงความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือ) และคำตัดสินเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติใน Guam ซึ่งสหรัฐฯ คัดค้านและขอให้มีการรับรองข้อมติโดยการลงคะแนนเสียงเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี

            5.3 ข้อมติเกี่ยวกับปฏิบัติการรักษาสันติภาพ – ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปเสาสันติภาพและความมั่นคงของ UN ที่เน้นการ streamline และ break the silos รวมถึงการบริหารจัดการงบประมาณให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งอาจมีนัยเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการรักษาสันติภาพของไทย

 

6. ข้อควรระมัดระวัง เช่น ประเด็นอ่อนไหว

ตามข้อ 5

 

7. กรม/กอง ที่รับผิดชอบประเด็นในคณะกรรมการ/หน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้อง

          7.1 การปลดปล่อยอาณานิคม การรักษาสันติภาพ สถานการณ์ในตะวันออกกลาง ปฏิบัติการการเมืองพิเศษการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและปฏิบัติการทุ่นระเบิด ประเด็นด้านสารสนเทศ- กองสันติภาพและความมั่นคง กรมองค์การระหว่างประเทศ

          7.2 การใช้อวกาศส่วนนอกในทางสันติ - กองงานบริหารองค์การระหว่างประเทศ กรมองค์การระหว่างประเทศ

 

8. ข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับฝ่าย secretariat ของคณะกรรมการ (หากมี)

          8.1 http://www.un.org/en/ga/fourth/index.shtml - เว็บไซต์ของคณะกรรมการ 4 ซึ่งมีลิงค์ไปที่ข้อมูลเอกสาร (documents) bureau และฝ่ายเลขานุการการประชุม รวมถึงข่าวสารนิเทศสรุปผลการประชุม (press releases)

          8.2 https://delegate.un.int - e-deleGATE Portal ระบบพอร์ทัลสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในช่วงการประชุม UNGA โดยสามารถลงทะเบียน speaker ร่วมอุปถัมภ์ร่างข้อมติ

          8.3 http://papersmart.unmeetings.org – ค้นหาถ้อยแถลงทั้งหมดที่กล่าวในการประชุม UNGA และการประชุมในกรอบที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ และหากประสงค์จะอัพโหลด Statement บนเว็บไซต์ สามารถส่งอีเมลพร้อมไฟล์ไปที่ [email protected]

          8.4 [email protected] อีเมลฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ 4

          8.5 http://webtv.un.org/meetings-events/ - UN Webcast สามารถเลือกชมวิดีโอการประชุมในแต่ละระเบียบวาระของแต่ละกรรมการได้